สพป.ยะลา เขต 2    ยิ้มแย้มแจ่มใส   ใส่ใจบริการ   สื่อสารด้วยรัก   ยึดหลักธรรมาภิบาล   Smile   Service   Smooth    Good Governance

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การศึกษา ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 และตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ได้ประกาศแบ่งเขตพื้นที่ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดพื้นที่การศึกษาและกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 โดยในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 กำหนดให้รับผิดชอบจัดการศึกษาในท้องถิ่นจังหวัดยะลาในท้องที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา และอำเภอกาบัง ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553

สภาพทางภูมิศาสตร์
ด้านการปกครอง

ครอบคลุมเขตการปกครองในท้องที่ 3 อำเภอ 15 ตำบล 112 หมู่บ้าน และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย เทศบาล 3 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 15 แห่ง

ด้านภูมิประเทศ

กระจายอยู่ในพื้นที่ 1,580 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นสัดส่วนปริมาณ 2 ใน 6 ของพื้นที่จังหวัดยะลา พื้นที่ส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นภูเขา ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ โดยมีเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นแนวกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศที่สำคัญ คือ

เทือกเขาตะโล๊ะเว อยู่ทางทิศตะวันตก กั้นระหว่างอำเภอยะหากับบันนังสตา

เทือกเขากาโสด อยู่ทางทิศใต้กั้นระหว่างอำเภอธารโตกับอำเภอบันนังสตา

เทือกเขาฮาลา-บาลา อยู่ทางทิศตะวันออก กั้นระหว่างอำเภอบันนังสตา กับอำเภอศรีสาคร

ด้านสังคมวัฒนธรรม

มีประชากร 3 อำเภอ ในส่วนของการบริหารจัดการประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3 – 18 ปี จำนวน 42,555 คน เป็นที่ที่มีความหลากหลายด้านสังคม วัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ศาสนสถาน

- มัสยิด 116 แห่ง

- วัด/สำนักสงฆ์ 17 แห่ง

ภาษา

ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษามลายูท้องถิ่น และภาษาจีนจากสภาพแวดล้อมทั้งด้านภูมิประเทศที่ทุรกันดาร ความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม การปกครองที่มีสถานการณ์รุนแรง ประชาชนชาวไทยยังมีฐานะยากจน เศรษฐกิจประกอบกับการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำนโยบายไปสู่ การปฏิบัติแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ยังคงมุ่งมั่นจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศในส่วนรวมตามปณิธานที่ว่า เราจะทำในสิ่งที่บุคคลอื่นเห็นว่ายากให้สำเร็จ

ข้อมูลการจัดการศึกษาในภาพรวม
ลักษณะการจัดการศึกษา
สืบเนื่องจากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 เป็นพื้นที่มีสภาพแวดล้อมทั้งด้านกายภาพและด้านสังคม วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ ประชากรมีความหลากหลายทางภาษาศาสนา วัฒนธรรม ดังนั้น แนวทางการจัดการศึกษาจึงต้องให้สอดคล้องกับสภาพของสังคม ท้องถิ่น ซึ่งสำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 ได้จัดการศึกษาใน 4 ลักษณะ คือ

- การจัดการศึกษาในสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนวิชาสามัญ จะเป็นโรงเรียนทั่วๆ ไปของรัฐเหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เปิดสอนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น แต่มีสถานศึกษาที่จำนวนหนึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาอิสลามศึกษา โดยมีวิทยากรสอนศาสนาอิสลามเป็นผู้สอนในโรงเรียนของรัฐจำนวน 68 โรงเรียน (วิทยากรสอนศาสนารายชั่วโมง จำนวน 19 คน วิทยากรแบบเข้มจำนวน 144 คน)

- สนับสนุน ส่งเสริมสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนวิชาสามัญควบคู่กับการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอยู่จำนวน 16 แห่ง

- สถาบันศึกษาปอเนาะ เป็นสถาบันที่เปิดศาสนาอย่างเดียว มิได้เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุน การดำเนินงานมีอยู่จำนวน 27 แห่ง

- ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เป็นศูนย์การศึกษาที่เปิดสอนอิสลามศึกษาให้เยาวชนมุสลิมที่มีอายุ 6 – 12 ปี โดยทำการสอนและปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน ของศาสนาอิสลามเบื้องต้น (ฟัรฏูอีน) มีจำนวน 137 แห่ง

สภาพการจัดการศึกษา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 2 มีหน่วยงานที่จัดการศึกษาประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงาน คณะกรรมการศึกษาเอกชน(โรงเรียนเอกชน) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน) โดยการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จำแนกตามรายละเอียดดังนี้ สถานศึกษา จำนวนสถานศึกษาจำแนกตามสังกัด สังกัด สพฐ. (รวมสาขา) 68 โรง สังกัด ตชด. 2 โรง รวมทั้งสิ้น 70 โรง